ประวัติสถานศึกษา
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เป็นสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ชื่อเดิมว่า “โรงเรียนเกษตรกรรมแผนใหม่ชุมพร” ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2505 บนเนื้อที่ 2,431 ไร่ 1 งาน 30.7 ตารางวา ทำพิธีเปิดป้ายชื่อโรงเรียนเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2505
โรงเรียนเกษตรกรรมแผนใหม่ชุมพร เริ่มเปิดทำการสอนวันที่ 11 พฤศจิกายน 2505 เป็นการสอนแบบหลักสูตรระยะสั้น อบรมเกษตรกรในท้องถิ่น รุ่นละ 5 เดือน ดำเนินการได้ 3 รุ่น มีผู้สำเร็จการอบรม 89 คน
ปี พ.ศ. 2507 ได้เปิดสอนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม (ม.ศ. 4-5-6) และงดการเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น
ปี พ.ศ. 2509–2512 ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นโรงเรียนในโครงการเงินกู้จากธนาคารโลก เพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนเกษตรกรรมชุมพร” ในปี พ.ศ. 2512
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้รับการยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเกษตรกรรมชุมพร” ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเงินยืมจากรัฐบาลเดนมาร์ก เพื่อพัฒนาฟาร์มโคนมและเครื่องมือจักรกลฟาร์ม
ปี พ.ศ. 2525 กรมอาชีวศึกษา ได้มอบรางวัลชมเชยในฐานะที่วิทยาลัยฯ สามารถปฏิบัติงานได้ผลตรงตามนโยบายของกรมฯ
ปี พ.ศ. 2527 ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานศึกษาดีเด่น ประเภทวิชาเกษตรกรรม ของกรมอาชีวศึกษา
ปี พ.ศ. 2537 ดำเนินการเปิดสอนในลักษณะวิทยาลัยชุมชนขึ้นภายในวิทยาลัยเกษตร โดยใช้ชื่อ “วิทยาลัยชุมชนทุ่งตะโก”
ปี พ.ศ. 2539 เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร” จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันวิทยาลัยฯ มีการจัดการศึกษาเป็น 2 ระบบ คือ
1) การศึกษาในระบบ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
– หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
– หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
2) การศึกษานอกระบบ
– หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท (อศ.กช.)
– หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เทียบโอนประสบการณ์และสะสมหน่วยกิต
– โครงการฝึกอบรมและบริการวิชาชีพ
– กิจกรรมส่งเสริมอาชีพอิสระ (108 อาชีพ)
สภาพพื้นที่
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,431 ไร่ 1 งาน 30.7 ตารางวา สภาพพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย ชนิด chumphon series มี pH 4.8 – 6.5 เฉลี่ย 5.65 มีปริมาณน้ำฝนตกทั้งปี ประมาณ 2,000 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส สภาพอากาศทั่วไปร้อนชื้น ความชื้นเฉลี่ย 82% พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการทำฟาร์มประมาณ 1,778 ไร่ เป็นที่พักอาศัยและอาคารสถานปฏิบัติการสอนประมาณ 498 ไร่ และเป็นพื้นที่สงวนเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติประมาณ 155 ไร่
แหล่งน้ำที่ใช้บริโภค ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากคลองเพรา น้ำประปา น้ำฝน และน้ำดื่มบรรจุขวด สำหรับน้ำใช้ในฟาร์ม ส่วนหนึ่งได้จากคลองเพราและบางส่วนได้จากอ่างเก็บน้ำภายในสถานศึกษา
สถานที่ตั้ง
เลขที่ 1 หมู่ที่ 8 ถนนเพชรเกษม ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร รหัสไปรษณีย์ 86220
ระยะทางระหว่างสถานศึกษา ถึง อำเภอทุ่งตะโก 5 กิโลเมตร
ระยะทางระหว่างสถานศึกษา ถึง จังหวัดชุมพร 60 กิโลเมตร
ระยะทางระหว่างสถานศึกษา ถึง กรุงเทพฯ 560 กิโลเมตร
ระยะทางระหว่างสถานศึกษา ถึง สนามบินสุราษฎร์ธานี 120 กิโลเมตร
” เรียนเกษตรเพื่อการผลิต ใช้ชีวิตให้มีคุณธรรม “
“พัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสู่สากล”